MENU

ก.ล.ต.ชูแผนพัฒนาตลาดทุนไทยสู่ดิจิทัล เพิ่มความสะดวก ขับเคลื่อนศก.เติบโตอย่างยั่งยืน

 18 ต.ค. 2567 00:00

ก.ล.ต. ชูแผนการพัฒนาการให้บริการดิจิทัลขับเคลื่อนตลาดทุนไทย มุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เอื้อต่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มการลงทุน กระจายความเสี่ยง และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน


เมื่อวันที่ 18 ต.ค.67 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการให้บริการดิจิทัลของ ก.ล.ต. (SEC Digital Services) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่18 ตุลาคม2567 ในหัวข้อ “Digital Horizons : Shaping the Future of Capital Market การมองไปข้างหน้าสู่โอกาสและความท้าทายในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในตลาดทุนไทย” โดยปีนี้เป็นการจัดต่อเนื่องครั้งที่ 5


นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภาคตลาดทุน” ว่า ปัจจุบันดิจิทัลเข้ามามีผลกระทบในทุกเรื่อง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของ “Future is now” ไม่ใช่ “Future is future” แล้ว ดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือของมนุษย์มากขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันได้ ทุกหน่วยงานปฏิเสธการทำงานเป็นระบบดิจิทัลไม่ได้ ปัจจุบันได้มีการใช้ดิจิทัลไอดี (Digital ID) ในการเชื่อมต่อกับ E-service ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดในการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดการใช้กระดาษในทุกหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ ก.ล.ต. สามารถยกระดับการใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ (tool) ได้ การแปลงดิจิทัลเป็นเครื่องมือ ตลอดจนการแปลงทรัพย์สินที่มีตัวตนเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน ซึ่งต้องตั้งอยู่บนความเชื่อใจเท่านั้น ดังนั้น เราจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร หากไม่ปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบัน AI ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น และสามารถสร้างแพทเทิร์นที่เข้าใจได้ โดยเราไม่สามารถต่อต้านโลกแห่งดิจิทัลได้ ถ้าจะทำให้ดีต้องอยู่ในโลกดิจิทัล ไม่ใช่ใต้โลกดิจิทัล “เราต้องอยู่แบบเซฟโซนดิจิทัล”


นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในปี 2567 ก.ล.ต. ได้พัฒนาและยกระดับการให้บริการดิจิทัลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้าน 1. การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การยื่นขอรับและออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Licensing) ศูนย์บริการแบบครบวงจรสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน (Stakeholder Service Portal) และเครื่องมือช่วยตัดสินใจลงทุนและแจ้งเตือนความเสี่ยง (SEC Check Tools)


2. การยกระดับการกำกับดูแลด้วยเทคโนโลยี เพื่อการวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แม่นยำขึ้น และป้องกันการกระทำผิดและคุ้มครองนักลงทุน


3. การส่งเสริมนวัตกรรมด้านดิจิทัลผ่านโครงการDigital Asset Regulatory Sandbox รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง ด้วยการสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาทักษะการรับมือภัยคุกคามให้กับบุคลากรภาคตลาดทุนอย่างสม่ำเสมอ


“ในปี 2568 ก.ล.ต. ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ที่เอื้อต่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การพัฒนาระบบดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มการลงทุน กระจายความเสี่ยง และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ลงทุนและความมั่นคงปลอดภัยของระบบ” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว


นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. บรรยายพิเศษหัวข้อ “SEC Digital Services Landscape & Roadmap” โดยกล่าวถึงรายละเอียดแผนการพัฒนาการให้บริการดิจิทัลของ ก.ล.ต. ในปี 2568 ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนดิจิทัลช่วยให้ธุรกิจในตลาดทุนทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มั่นคง ปลอดภัย และรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้ดีขึ้น และปรับตัวได้เร็วขึ้น


นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ Data Portability กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับนักลงทุน ในเสวนาหัวข้อ “พลิกโฉมตลาดทุนสู่อนาคตด้วยพลังดิจิทัล” ร่วมกับนายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนดิจิทัล


นายชาคร ทองหุ่น ประธานกรรมการชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ไอร่า จำกัด (มหาชน) เล่าถึงบทบาทของ AI ในธุรกิจหลักทรัพย์ และนายเจษฎา สุขทิศ CEO & Co-Founder บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด กล่าวถึงการนำข้อมูลเปิดของ ก.ล.ต. ไปสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทุน


ทั้งนี้ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดย ก.ล.ต. จะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับมาเป็นปัจจัยในการกำหนดกลยุทธ์ด้านดิจิทัล และพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างบริการที่เป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนต่อไป