PTG ผนึกมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ-กรมป่าไม้-ธ.ก.ส. หนุนปลูกกาแฟอาราบิก้า ตั้งเป้า 5 หมื่นไร่
15 ต.ค. 2567 00:00บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ผนึกมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ - กรมป่าไม้ - ธ.ก.ส. ส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้า และพืชเศรษฐกิจยั่งยืน ส่งตรงเข้าร้าน "กาแฟพันธุ์ไทย" สนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีชีวิตอยู่ดีมีสุข ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟได้ 5 หมื่นไร่
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมป่าไม้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ป่าและส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าและพืชเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาป่าเดิม เพิ่มป่าใหม่ เพื่อให้ประเทศ ได้มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เกษตรกรมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยจะนำเอาเมล็ดกาแฟที่มี คุณภาพและได้คุณสมบัติตามมาตรฐานส่งมอบให้กับพีทีจี เพื่อส่งต่อให้กับบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทในเครือพีทีจี) รวมถึงรับซื้อผลผลิตกาแฟอาราบิก้า หรือพืชเศรษฐกิจจากเกษตรกรตามคุณภาพ ปริมาณ และราคาอีกด้วย
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ พีทีจี จะทำหน้าที่ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ในการปลูก การแปรรูปกาแฟ หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ พร้อมทั้งรับซื้อผลผลิตกาแฟ หรือพืช เศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดในราคามาตรฐาน เป็นธรรมและยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุน องค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากระบวนการรับซื้อผลผลิต การคัดคุณภาพเมล็ด และการตรวจสอบย้อนกลับรวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตกาแฟและพืชเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมด้านตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นตามความต้องการของลูกค้า และความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์และราคา
ส่วนความร่วมมือกับกรมป่าไม้ พีทีจีสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อดำเนินการจัดหา ปลูกกาแฟ และปลูกไม้ป่าในพื้นที่โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ที่กรมป่าไม้จัดเตรียมให้ เพื่อการปลูกและบำรุงรักษาป่า อย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลา 3 ปี พร้อมทั้งพัฒนาระบบการผลิตกล้ากาแฟพันธุ์ดี ให้ความรู้เกี่ยวกับการขยาย พันธุ์และดูแลกล้ากาแฟอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงร่วมกันพัฒนารูปแบบ การสร้างกระบวนการ ปลูกป่า อย่างมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อ เพิ่มพื้นที่ป่าถาวรในชุมชน
นอกจากนี้ ยังร่วมกันสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานปลูกและบำรุงรักษาป่าในด้านผลกระทบเชิงสังคม (Social Impacts Assessment) ด้านการเจริญเติบโตและปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือน กระจกของต้นไม้และพื้นที่ป่า
ขณะที่ความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พีทีจีสนับสนุนด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์และข้อมูลเพื่อเป็นกรอบในการวางแผนการผลิตให้กับวิสาหกิจชุมชน รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ (CSR) และเผยแพร่ความรู้ และเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกกาแฟหรือพืชเศรษฐกิจแก่เกษตรกร พร้อมทั้งจัดหากล้าไม้ยืนต้น ต้นกล้ากาแฟบางส่วน และต้นกล้าของพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
นายรังสรรค์ พวงปราง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงินและความยั่งยืน บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี กล่าวว่า กรมป่าไม้และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจะช่วยในการหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟอาราบิก้า โดยเฉพาะในพื้นที่จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ที่สภาพอากาศเย็นเหมาะสมกับการปลูกกาแฟอาราบิก้า ขณะที่ ธ.ก.ส. จะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนและช่วยบริการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าการเพาะปลูกกาแฟ 5 ปี ไว้ที่ 30,000 ไร่ และอาจจะสามารถปลูกได้มากถึง 50,000 ไร่ เพราะปัจจุบันความต้องการยังไม่เพียงพอ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกมาก
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และพีทีจี มีเป้าหมายการดำเนินงานในทิศทางเดียวกันในการพัฒนาพื้นที่ โดยการส่งเสริมและฟื้นฟูพื้นที่เป้าหมาย ผ่านการดำเนินงานแบบผสมผสาน เช่น การปลูกป่า การปลูกกาแฟหรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากงานพัฒนาทางเลือกและสนับสนุนชุมชน ตลอดจนร่วมพัฒนาการ ส่งเสริมและต่อยอดผลิตภัณฑ์จากชุมชนในพื้นที่เป้าหมายที่ได้ตกลงทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันในครั้งนี้
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้จะทำหน้าที่สนับสนุนพื้นที่โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามแนวพระราชดำริ จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ เพื่อการปลูกและบำรุงรักษาป่า พร้อมทั้งสนับสนุนด้านข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับ พีทีจี หน่วยงาน ชุมชน รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามความเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ประจำโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่เพื่อให้คำแนะนำ การจัด หาพื้นที่โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ และการประสานงานกับชุมชนในพื้นที่
นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หน้าที่ของ ธ.ก.ส. จะประเมินความพร้อม และศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งด้านความตั้งใจในการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงความพร้อมทางด้านการเงิน รวมถึงสนับสนุน แหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้ตามแผน ทั้งนี้ภาย ใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของ ธ.ก.ส. และเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ธ.ก.ส. กำหนด นอกจากนี้ยังหาช่อง ทางในการพัฒนาสินค้าจากผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดที่พีทีจีรองรับ